วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ศิลปินแห่งชาติ(บุคคล)

      นายกมล  ทัศนาญชลี

           ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม)
   
 
                                                                                http://www.era.su.ac.th/.../ArtistPhoto/A000002.jpg     
 
 
             นายกมล  ทัศนาญชลี  เกิดเมื่อวันที่  ๑๗  มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗   ที่กรุงเทพมหานคร เป็นศิลปินคนสำคัญและดีเด่นในด้านจิตรกรรมและสื่อผสมร่วมสมัยของไทยที่ได้รับการยอมรับและยกย่องทั้งในและต่างประเทศ  ปัจจุบันคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเผยแพร่ศิลปะและอุทิศตนให้กับงานการกุศล  ดำรงและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า  มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในความเป็นศิลปินที่ดีงาม  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี  จึงรับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ 
 
เป็นศิลปินที่อุทิศตนให้กับการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน  ได้รับพัฒนาผลงานศิลปะร่วมสมัยตลอดเวลา  จนเป็นที่ยอมรับว่า เป็นผู้นำคนสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย  มีผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตนในแนวทางสากลที่มีพื้นฐานจากศิลปะแบบประเพณีไทยในอดีต  นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในเรื่องการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยทั้งในและต่างประเทศ  สนับสนุนและส่งเสริมศิลปินและนักวิชาการศิลปะของไทยในเรื่องการศึกษาและหาประสบการณ์
 
           เป็นผู้ดำเนินการศูนย์ศิลปกรรมไทยและสภาศิลปกรรมไทย  เพื่อการเผยแพร่ศิลปะไทยในสหรัฐอเมริกา  ให้บริการสังคมด้วยศิลปะและวิชาการเป็นอย่างดี  ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์  เป็นวิทยาทานแก่สถาบันการศึกษาวิชาศิลปะทั่วประเทศและในต่างประเทศ      
 
 
 
                              นายฉัตรชัย  วิเศษสุวรรณภูมิ
                                ศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์ 
 
      
 
                 นายฉัตรชัย  วิเศษสุวรรณภูมิ  นามปากกา พนมเทียน  เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๗๔   ที่จังหวัดปัตตานี  เป็นนักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวรรณศิลป์ที่ทรงคุณค่าไว้อย่างมากมายและต่อเนื่องมาเกือบ ๕ ทศวรรษ 
            
             ผลงานของเขาเป็นที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมของผู้อ่านตลอดมา  โดยเฉพาะนวนิยาย ซึ่งมีจำนวนถึง ๓๘ เรื่อง  หลายเรื่อง เช่น จุฬาตรีคุณ  เล็บครุฑ  เพชรพระอุมา  และ  ศิวาราตรี  มีความโดดเด่นเฉพาะตัว  อย่างที่จะหานักเขียนแนวเดียวกันมาเทียบเคียงได้ยาก พนมเทียน  เป็นนักฝัน  เขาถึงสามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานโดยมีความรอบรู้ และประสบการณ์อันหลากหลายเป็นพื้นฐาน  งานของเขาจึงมีหลายประเภทหลายแนว  คือ  มีทั้งประเภทจินตนิยาย อาชญนิยาย นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แนวผจญภัย แนวพาฝัน ตลอดจนแนวสาระนิยาย   คุณลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของเขา คือ การใช้ภาษาด้วยลิลาอันงดงามและให้ภาพที่คมชัด  งานของเขาจึงส่งผลสืบเนื่องไปถึงการสร้างงานศิลปะแขนงอื่น  เช่น  ละครวิทยุ ละครเวที ตลอดจนเพลงประกอบละครเวที  โดยเฉพาะเรื่อง  จุฬาตรีคูณ  นั้น  เป็นที่นิยมกันมาตลอด 5 ทศวรรษ  นอกจากเรื่อง จุฬาตรีคูณ  จินตนิยายเรื่อง ศิวาราตรี  ของ  พนมเทียน  ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ สกลวรรณ นำ ศิวาราตรี มาเขียนเป็นร้อยกรองยาวกว่า ๓๐,๐๐๐ คำกลอน  โดยอาศัยความงามแห่งภาษาร้อยแก้วของ พนมเทียน เป็นพื้นฐาน 
 
           งานเขียนของพนมเทียน มิได้เพียงแต่พาผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการที่มีแต่ความบันเทิงใจ  หากอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์  จะเห็นได้ว่าผู้เขียนยึดถือหลักการมนุษยธรรมอย่างมั่นคง เขาเห็นว่าโลกและชีวิตดำรงอยู่ด้วยมนุษยธรรม สันติภาพและภารดรภาพ อันเป็นอุดมการณ์ของมนุษยชาติ  ผลงานของเขาจึงให้ทั้งความสำเริงอารมณ์และคุณค่าแห่งสาระที่แฝงอยู่เบื้องลึก  พนมเทียน ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีวรรณศิลป์และมีคุณค่าประทับใจผู้อ่าน ต่างรุ่น ต่างวัย และต่างสถานภาพ มาเป็นเวลายาวนานกว่าเกือบครึ่งศตวรรษ
 
 
            นายฉัตรชัย  วิเศษสุวรรณภูมิ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๐   
     

ศิลปินแห่งชาติ

ประวัติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะที่มีคุณค่าของแผ่นดินไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ"


คุณสมบัติ และ หลักเกณฑ์การคัดเลือก

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ 7 ประการ คือ
  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย และยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
  2. เป็นผู้มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น
  3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
  4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
  5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
  6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
  7. เป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

สาขาของศิลปินแห่งชาติ

มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกจำแนกศิลปินแห่งชาติออกเป็น 4 สาขาคือ
1. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดังต่อไปนี้
  • จิตรกรรม หมายถึง ภาพเขียนสีและภาพลายเส้น
  • ประติมากรรม หมายถึง งานปั้นและแกะสลัก
  • ภาพพิมพ์ หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ โลหะ ฯลฯ
  • ภาพถ่าย หมายถึง ผลงานศิลปะภาพถ่ายที่เสนอด้วยสื่อและกรรมวิธีต่างๆ
  • สื่อประสม หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธีและเทคนิคต่างๆอย่างอิสระ
2. สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม หมายถึง งานออกแบบ หรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
3. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่
  • การละคร ประกอบด้วย ละครรำ เช่น โนห์รา ชาตรี ฯลฯ ละครร้อง โขน ลิเก ระบำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) รำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) ฟ้อน (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) เซิ้ง (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) หุ่น เช่น หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้องหรือบทละครรำ (เพื่อการแสดง)
  • การดนตรี แบ่งออกเป็นดนตรีไทย และดนตรีสากล
    • นักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องมือ
    • นักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับในการแสดงต่างๆ และสามารถแหล่ทำนองต่างๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)
    • นักประพันธ์เพลง ต้องประพันธ์ ทั้งทางร้องและทางดนตรี
    • ผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น
    • ผู้ผลิตเครื่องดนตรี
  • การแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ซอ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ
4. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง


    ศิลปินแห่ง่ชาติ                                                                                                                    Text : แอบเชย

มาพบกันเป็นครั้งแรกในบ้านเล็กๆ ของ WalkWayWhy (WKY) หลังนี้กับแอบเชย พร้อมกับสาระน่ารู้ในวันสำคัญที่เพื่อนๆ ชาว WKY ควรรู้ โดยในโอกาสนี้ แอบเชยขอพูดถึงวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ "ศิลปิน" ค่ะ ใช่แล้ว... เรากำลังพูดถึง "วันศิลปินแห่งชาติ" นั่นเอง แอบเชยจะขอพาชาว WKY ทุกท่านไปรู้จักกับ "วันศิลปินแห่งชาติ" เดี๋ยวนี้ล่ะค่ะ

วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงเป็นอัครศิลปินในด้านศิลปกรรมเกือบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง ด้านประติมากรรม ด้านดนตรี และกวีนิพนธ์ ฯลฯ ดังนั้นเพื่อเป็นการเชิดชูและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ คณะรัฐบาลจึงมีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น
"วันศิลปินแห่งชาติ"
 มรว. คึกฤทธิ์

ศิลปินแห่งชาติคนที่สำคัญของประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2454 บทบาทและผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ เป็นผู้ก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ ได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2538 รวมอายุได้ 84 ปี

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีศิลปินมากมายที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ อาทิ

  • ชาย เมืองสิงห์ นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่งชั้นครูคนหนึ่งของเมืองไทย ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2538
  • ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินอัจฉริยะที่โด่งดังระดับโลก ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2544
  • สรพงษ์ ชาตรี พระเอกชื่อดังตลอดกาลได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์) ประจำปีพุทธศักราช 2551
  • ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพุทธศักราช 2551                  ศิลปินแห่งชาติ
ส่วนผลการคัดเลือกรางวัลศิลปินแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช 2553 นั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ก็ได้ประกาศรายชื่อออกมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติของศิลปินผู้มีความสามารถ และอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจนโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารชน โดยได้ยกให้ท่านเหล่านั้นเป็น "ศิลปินแห่งชาติ ประจำพุทธศักราช 2553"

จะมีศิลปินท่านใดกันบ้าง ตามแอบเชยมาดูในบรรทัดต่อไปกันเลยค่ะ

1.
  ส า ข า ทั ศ น ศิ ล ป์   ได้แก่
    - นายธงชัย รักปทุม (จิตรกรรม)
    - นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี (สถาปัตยกรรมไทย)
    - นางประนอม ทาแปง (ประณีตศิลป์ - ศิลปะผ้าทอ)                                  
2.  ส า ข า ว ร ร ณ ศิ ล ป์   ได้แก่
    - นายสมบัติ พลายน้อย (สารคดี เรื่องสั้น)
    - นายสุรชัย จันทิมาธร (เรื่องสั้น สารคดี กวีนิพนธ์)
3.  ส า ข า ศิ ล ป ะ ก า ร แ ส ด ง   ได้แก่
    - นายควน ทวนยก (ดนตรีพื้นบ้าน)
    - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอกพิเศษชูชาติ พิทักษากร (ดนตรีสากล)
    - นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์- นักแสดง)
    - นายสุประวัติ ปัทมสูต (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ - ผู้กำกับ นักแสดง)

ศิลปินแห่งชาติ 2553

อนึ่ง ศิลปินแห่งชาติปีพุทธศักราช 2553 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 ก.พ.2554 เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย